ภาพสะท้อนในดวงตาคือ บ้านสวนริมน้ำ เรียบง่ายกลางทุ่งนาดั่งภาพฝัน แต่นัยน์ตาของเขาและเธอนั้นฉายความรู้สึกให้ปรากฏแก่ใจมากกว่าภาพที่อยู่ตรงหน้า
เจ้าของ: คุณในดวงตา ปทุมสูติ – คุณรุ่งโรจน์ ไกรบุตร
แสงยามเช้าเพิ่งเลียใบหญ้ายังไม่ทันอุ่น กลิ่นดินหมาดน้ำค้างยังเคล้ามาตามลมลูบไล้ผิวกายให้เย็นชุ่มไปถึงใจ แต่หากย้อนกลับไปเมื่อ 6 ปีก่อนหลังหว่านเมล็ดข้าวลงดินในเดือนตุลาคม คุณก้อย – ในดวงตา ปทุมสูติ และคุณรุ่ง – รุ่งโรจน์ ไกรบุตร ตัดสินใจสร้าง บ้านสวนริมน้ำ ด้วยเงินเก็บทั้งหมดราว 3 แสนบาท แน่นอนว่าไม่ได้ตัวบ้านทั้งหมดที่เห็น แต่ได้เพียงค่าโครงสร้างคอนกรีตและหลังคาซึ่งต้องจ้างช่างมาทำ ส่วนที่เหลือสร้างด้วยน้ำพักน้ำแรงและพลังใจที่ก่อเป็นความภาคภูมิในแบบฉบับของคนบ้านนอกสองคนนี้
“เราทั้งคู่เคยทำงานและใช้ชีวิตในเมืองกรุงหลายปีแล้วรู้สึกไม่ใช่ เราคุ้นกับวิถีชนบท การอยู่กับธรรมชาติทำให้จิตใจนิ่งและเย็น ในความรู้สึกลึกๆ คือการได้มาทำกินบนผืนดินของบรรพบุรุษ เป็นบ้านเกิดที่ผูกพัน”
คุณก้อยเป็นสาวสุพรรณที่อยู่บ้านเกิดเพียงชั้นอนุบาลก็ย้ายไปที่อื่นจนจบคณะครุศาสตร์ เอกภาษาไทยที่เชียงใหม่ จากนั้นทำงานในกรุงเทพฯ ก่อนจะกลับมาสุพรรณบุรีอย่างถาวร เพื่อช่วยงานคุณพ่อที่เป็นวิทยากรบรรยายในโครงการแก้ปัญหาเรื่องเด็กอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ ซึ่งเป็นหลักสูตรของคุณพ่อเอง ส่วนคุณรุ่งเป็นคนอุทัยธานี เรียนด้านภูมิศาสตร์สิ่งแวดล้อม เคยทำงานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร มูลนิธิสานแสงอรุณที่เน้นส่งเสริมให้คนเรียนรู้ในการอยู่กับธรรมชาติ ในปี 2554 ที่เกิดน้ำท่วมใหญ่ ทำให้ทั้งคู่ตัดสินใจสร้างบ้านสองชั้น โดยต่อเชื่อมกับบ้านชั้นเดียวที่อยู่เดิมเผื่อหนีน้ำในอนาคต
“ถ้ารอเก็บเงินให้มากพอก่อนแล้วค่อยสร้างคงไม่มีวันพร้อม หากไม่เริ่มต้น เราก็ไม่มีวันทำได้สำเร็จ” คุณรุ่งเล่าพลางสบตาคุณก้อยเหมือนมีนัยว่า พวกเขาทั้งสองไม่กลัวที่จะก้าวผ่านทุกข์และสุขไปด้วยกัน
2 ปีจากวันที่เริ่มต้น โครงสร้างบ้านเสร็จด้วยฝีมือช่างชาวบ้านที่ทำแบบค่อยเป็นค่อยไป พร้อมเงินที่ค่อยๆ หมดลงจนเหลือไม่กี่พัน ต่อจากนั้นจึงมีแต่สองมือของ “ช่างรุ่ง” ที่ทำงานไม้ทั้งหมด คือ ผนัง ประตูหน้าต่าง และเฟอร์นิเจอร์บางส่วน
“ตอนนั้นมั่นใจว่าสร้างบ้านเองได้ โดยใช้ไม้สะเดา ไม้ประดู่ ซึ่งเป็นต้นไม้ที่ปลูกในที่ดินของเรา ทั้งยังมีไม้เก่าและประตูหน้าต่างเก่าที่ซื้อสะสมไว้ เราเดินทางบ่อยและตั้งใจว่าจะไม่เป็นหนี้ จึงใช้เวลาร่วม 2 ปี บ้านจึงเป็นรูปเป็นร่างที่ดูภายนอกเหมือนเสร็จแล้ว แต่ก็ค่อยๆ เติมแต่งและปรับไปตามการใช้งาน”
เวลาล่วงมาถึงใกล้เที่ยงมีแดดกล้า แต่ลมยังพัดตึงผ่านประตูบานเฟี้ยมและหน้าต่างเก่าหลากหลายแบบที่เป็นทั้งฟังก์ชันและลูกเล่นของบ้านนี้ กลิ่นไข่เจียว ผัดกะเพรา และผัดผักจากแปลงหน้าบ้านทำให้ท้องร้องแข่งกับเสียงตะหลิวดังจากในครัว
“เดือนพฤศจิกายนถึงมีนาคมเป็นช่วงที่ไม่ค่อยเดินทาง ก็จะมีเวลาดูแลผักที่ปลูกสำหรับกินในครัวเรือน และเป็นฤดูที่เหมาะกับการปลูกผักใบ แต่ก็ต้องเปลี่ยนชนิดบ้าง อย่างก่อนหน้านี้ทำค้างปลูกไม้เลื้อยพวกถั่วฝักยาว บวบ ฟัก เป็นวิธีธรรมชาติเพื่อป้องกันโรคและแมลงซึ่งมักลุกลามเมื่อปลูกผักชนิดเดียวติดต่อกัน ที่ดินทั้งหมดมีประมาณ 23 ไร่ มีบ้านคุณพ่อคุณแม่ บ้านหลังนี้ มียุ้งข้าวสำหรับเก็บกินในบ้าน มีบ่อน้ำธรรมชาติใช้อุปโภค โดยขุดบ่อและปลูกไผ่โดยรอบเป็นอาณาเขต ไผ่รวกไว้กินหน่อ ไผ่หนามมีลำใหญ่ไว้ใช้ทำรั้ว ส่วนหนึ่งเป็นดงกล้วย อีกส่วนทำนา นอกนั้นปลูกไม้ยืนต้นไว้ใช้ไม้ ซึ่งคุณปู่ปลูกเองตั้งแต่สมัยท่านยังอยู่”
กาแฟส้มใส่น้ำแข็งฝานสตรอว์เบอร์รี่สดสูตรโปรดของคุณก้อยที่ไม่ใช่คอกาแฟ แต่ชอบกลิ่นหอมปนขมผสมเปรี้ยวที่เหมือนส่วนผสมของพวกเขาทั้งคู่ “ในภาพที่เห็นบ้านกลางทุ่งมันดูดี แต่อีกด้านคือวิถีเกษตรกรได้เปลี่ยนไป รอบๆ พื้นที่มีการใช้เคมี มีการเผาไร่อ้อยซึ่งเราไปเปลี่ยนมันไม่ได้ เราก็ต้องปรับตัวและทำได้แค่สร้างธรรมชาติของเราเองให้มากขึ้น ความสุขของเราเริ่มต้นตั้งแต่ก้าวแรก เป็นความภูมิใจที่เกิดจากการลงมือทำ แม้ไม่ได้สมบูรณ์ทุกอย่าง และในธรรมชาติก็ไม่มีอะไรสมบูรณ์แบบ จึงเป็นการอยู่แบบเรียนรู้และเรียนรู้ที่จะอยู่กับมัน เหมือนการใช้ชีวิตคู่ ค่อยๆ ปรับตัว ถ้าปรับไม่ได้ก็ทำความเข้าใจที่จะอยู่ด้วยกัน” บ้านสวนริมน้ำ
แม้ละเลียดกาแฟส้มจนหมดก้นแก้ว แต่ความรู้สึกยังดำเนินต่อ ภาพบ้านที่อยู่เบื้องหน้ากลับเป็นเพียงสีจาง บ้านของพวกเขาทั้งสองคนช่างเด่นชัด เพราะในดวงตานั้นต่างมีกันและกันเป็นดั่ง “บ้าน” บ้านที่เดินจับมือไปด้วยกันได้ทุกที่ทุกเวลา
Our Little Farm & Home ในดวงตานั้นมีเธอเป็นดั่งบ้าน
เจ้าของ: คุณในดวงตา ปทุมสูติ – คุณรุ่งโรจน์ ไกรบุตร
ที่ตั้ง: จังหวัดสุพรรณบุรี
เรื่อง: ศรายุทธ ศรีทิพย์อาสน์
ภาพ: สิทธิศักดิ์ น้ำคำ
ผู้ช่วยช่างภาพ: ธนวรรณ ฤาษีประสิทธิ์
สไตล์: jeedwonder